หน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ชาวบ้านอยุธยา-สระบุรี-ปากช่อง ร่วมต้านแผนสร้างมอเตอร์เวย์สายใหม่ "บางปะอิน-โคราช" ตอน1-2 ระยะทางรวม 202 กม. มูลค่าประมาณ 2.9 หมื่นล้าน เหตุหวั่นกระทบต่ออาชีพ-ความเป็นอยู่ ด้านกรมทางฯ ต้องยอมผ่อน เตรียมยืดเวลาสำรวจออกแบบให้กลุ่มที่ปรึกษาเพิ่มอีก 5 เดือน จากเส้นตายเดิมที่ต้องส่งมอบงานภายในเดือน ต.ค.นี้ เร่งทบทวนแบบและทำความเข้าใจกับชาวบ้าน


แหล่งข่าวระดับสูงจากกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงความคืบหน้าในการสำรวจและออกแบบโครงการทางหลวงพิเศษ (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 6 สายบางปะอิน-โคราช ตอนที่ 1 ระยะทางประมาณ 103 กิโลเมตร ซึ่งเป็นเส้นทางจาก อำเภอบางปเอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ถึงอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา และตอนที่ 2 ระยะทางประมาณ 99 กิโลเมตร ซึ่งเป็นเส้นทางจากอำเภอปากช่อง ถึงอำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถสรุปแนวเส้นทางที่ชัดเจนได้ เนื่องจากยังได้รับการต่อต้านจากประชาชนในพื้นที่ตามแนวเส้นทางโครงการอยู่เป็นจำนวนมาก เพราะไม่ต้องการถูกเวนคืนที่ดิน


ทั้งนี้พื้นที่ค่อนข้างมีปัญหา คือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา บริเวณเทศบาลตำบลลำตะเสา ที่ต้องการให้ปรับรูปแบบโครงการเพื่อลดผลกระทบให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะบริเวณจุดขึ้น-ลง ขณะที่ในพื้นที่จังหวัดสระบุรี ที่บริเวณเทศบาลตำบลทับกวาง ก็ต้องการให้ปรับแนวเส้นทางให้ชิดกับถ้ำเขาโพธิสัตว์มากที่สุด เพื่อลดจำนวนบ้านเรือนที่จะถูกเวนคืน ซึ่งในส่วนนี้ทางบริษัทที่ปรึกษาได้พิจารณาแล้วว่าไม่สามารถำได้ เพราะจะทำให้มีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก


นอกจากนั้นที่บริเวณอำเภอมวกเหล็ก ก็มีกลุ่มองค์กรส่งเสริมโคนมแห่งประเทศไทย ที่ต้องการให้ปรับแนวเส้นทางเพื่อลดผลกระทบ ส่วนที่บริเวณปากช่อง ก็ต้องการให้เบี่ยงแนวเส้นทาง เพื่อไม่ให้กระทบกับพื้นที่ทำเหมือง เนื่องจากชาวบ้านเกรงว่าจะมีผลทำให้ถูกยกเลิกสัมปทานการทำเหมือง ส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่อย่างมาก


ดังนั้นจึงต้องพิจารณาขยายเวลาการสำรวจและออกแบบให้กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา จากเดิมที่กำหนดให้ส่งมอบผลการศึกษาภายในเดือนตุลาคมนี้ ออกไปอีกประมาณ 5 เดือน เพื่อทำการปรับเปลี่ยนแนวเส้นทางให้มีผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด และออกแบบรายละเอียดเพิ่มเติม รวมถึงทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ให้ได้มากที่สุด ต้องดูว่าจะประนีประนอมกันอย่างไรเพื่อให้เป็นที่พอใจกันทุกฝ่าย


อย่างไรก็ดี ต้องพิจารณาดูด้วยว่า หลังจากที่ทบทวนแบบอีกครั้งหนึ่งแล้ว วงเงินลงทุนที่ประมาณการไว้ว่าเดิมตลอดแนวเส้นทางจะใช้เงินลงทุนรวมประมาณ 29,000 ล้านบาทนั้น หากปรับแนวเส้นทางให้เป็นที่พอใจต่อประชาชนในพื้นที่แล้ว วงเงินจะยังอยู่ในจำนวนที่ประมาณการนี้ไวหรือไม่ หากเกินไปจากนี้ก็ต้องเจรจากับประชาชนเพื่อขอปรับแบบอีกครั้ง เพื่อให้สามารถคุมวงเงินการงทุนไม่ให้สูงเกินไปจากนี้ให้ได้ด้วย แหล่งข่าวรายเดิมกล่าว


สำหรับแนวเส้นทางโครงการดังกล่าวนั้น มีระยะทางรวมทั้งสิ้น 202 กิโลเมตร โดยจะพาดผ่านจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดสระบุรี และจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งมีจุดเริ่มต้นโครงการที่ทางแยกต่างระดับบางปะอิน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออก แนวถนนโครงการจะวางตัวออกไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ทางด้านเหนือของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 ผ่านพื้นที่โล่งเป็นส่วนใหญ่ เมื่อผ่านบ้านหินกอง แนวถนนโครงการจะเบนไปทางทิศตะวันออกเล็กน้อย ตัดกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) แล้วซ้อนทับและใช้เขตทางร่วมกับทางเลี่ยงเมืองสระบุรีด้านตะวันออก ก่อนแยกออกจากแนวเลี่ยงเมืองแนวตรงไปผ่านบ้านห้วยแห่ง


จากนั้นจะขนานด้านใต้กับแนวทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ) ตัดผ่านทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3222 (แก่งคอย-บ้านนา) ผ่านบ้านโคกกรุง ด้านเหนือของวิทยาลัยเกษตรสงเคราะห์สระบุรี เข้าสู่เขตพื้นที่นิคมสร้างตนเองทับกวาง แล้วเข้าเขตพื้นที่ทอำเภอมวกเหล็ก จากนั้นแนวถนนโครงการจะตัดผ่านพื้นที่บ้านคั่นตะเคียน บ้านกลางดง ตัดผ่านทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2222 ทางเข้าสัดเทพพิทักษ์ปุณณาราม


โดยแนวที่เชื่อมต่อไปจังหวัดนครราชสีมาจะตัดป่าบริเวณบ้านหนองน้ำแดง ผ่านพื้นที่ทหาร ซ้อนทับกับถนนมิตรภาพช่วงเลียบเขื่อนลำตะคอง ตัดข้ามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ) บริเวณบ้านคลองไผ่ ซึ่งแนวต่อจากนี้จะอยู่ด้านเหนือทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 (ถนมิตรภาพ) โดยตลอด ซึ่งแนวเส้นทางจะสิ้นสุดที่วงแหวนรอบเมืองนครราชสีมา


สำหรับทางพิเศษสายนี้ จะเป็นถนนขนาด 4-6 ช่องจราจร และสามารถขยายเป็น 8 ช่องจราจรได้ในอนาคต ทำให้รองรับปริมาณการจราจรได้มาก อีกทั้งยังเป็นเส้นทางที่สามารถควบคุมการเข้า-ออกได้อย่างสมบูรณ์แบบ จะไม่มีจุดตัดหรือทางแยก ทำให้ผู้ขับขี่สามารถใช้ความเร็วได้เต็มที่ 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และสามารถกำหนดเวลาในการเดินทางได้ โดยตลอดแนวเส้นทางจะมีสถานีบริการทางหลวง 1 แห่ง ที่พักริมทางหลวง 3 แห่ง เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้ทาง, ด่านเก็บค่าผ่านทางตามระยะทาง 6 จุด ทางลอด 19 จุด ทางข้าม 6 จุด และทางลอดใต้สะพาน 63 จุด เพื่อให้ชุมชนทั้งสองข้างทางสามารถสัญจรถึงกันได้สะดวกและปลอดภัย รวมถึงจะมีทางแยกต่างระดับ 6 จุด ที่เชื่อมต่อกับทางหลวงสายสำคัญด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น